ศึกษาสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
1. สาเหตุความขัดแย้งของมนุษยชาติในอดีต
ในอดีตมนุษยชาติมีปัญหาความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ทั้งขัดแย้งทางความคิดและการกระทำ ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้หรือทำสงครามทำลายล้างกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ได้แก่
(1) แย่งชิงดินแดนและที่อยู่อาศัย
(2) แย่งชิงแหล่งน้ำและอาหาร
(3) แย่งชิงทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คน เพื่อนำมาใช้เป็นกำลังแรงงาน
(4) ความขัดแย้งในความเชื่อและศาสนา
2. สาเหตุความขัดแย้งของมนุษยชาติในยุคปัจจุบัน
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939-1945) สิ้นสุดลง ความขัดแย้งของมนุษยชาติในสมัยปัจจุบันยิ่งเพิ่มมากขึ้น
โดยมีสาเหตุสรุปได้ดังนี้
2.1 ความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
2.2 ความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจ
2.3 การแข่งขันด้านอาวุธ
2.4 ลัทธิชาตินิยม
2.5 การต่อต้านบทบาทของชาติมหาอำนาจ
3. ความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
ความขัดแย้งของมนุษย์ชาติในสมัยปัจจุบันที่มีสาเหตุเกิดจากความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรม มีดังนี้
3.1 ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ หรือที่เรียกว่า “ลัทธิเผ่าพันธุ์นิยม” เป็นความรู้สึกของผู้คนในประเทศหนึ่งที่ผูกพันกับเผ่าพันธุ์เดิมของตน เกิดความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนเพื่อตั้งเป็นประเทศเอกราชใหม่และเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตน ดังตัวอย่าง เช่น ชาวโครแอต (Croat) ก่อตั้งประเทศโครเอเชีย (Republic or Croatia) โดยแยกตัวออกจากสหพันธรัฐยูโกสลาเวีย เมื่อปี ค.ศ.1991
3.2 ความขัดแย้งทางด้านศาสนา เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในอินเดีย หรือความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาเดียวกันแต่เป็นคนละนิกาย เช่น สงครามครูเสด เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม
3.3 ความแตกต่างทางด้านอารยธรรม ทำให้มนุษย์เกิดความไม่เข้าใจกันและกลายเป็นสาเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ อารยธรรมที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน เช่น อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมจีน และ อารยธรรมฮินดู เป็นต้น
4. ความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจ
ความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ กลายเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งในหมู่มนุษยชาติ ดังนี้
4.1 อุดมการณ์ทางการเมือง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โลกมีความแตกต่างและความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจ 2 ค่าย ดังนี้
(1) ค่ายประชาธิปไตย มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
(2) ค่ายคอมมิวนิสต์ มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ
ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองและการแข่งขันกันแผ่ขยายอิทธิพลของชาติ มหาอำนาจทั้งสองค่ายในภูมิภาคต่างๆ ของโลกดังกล่าว ทำให้โลกเข้าสู่ภาวะ “สงครามเย็น” (Cold War) ในช่วงปี ค.ศ.1945-1991 ซึ่งได้สิ้นสุดลงพร้อมๆกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
4.2 ระบบเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆในโลกมีระบบเศรษฐกิจแตกต่างกันจึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้
ระบบเศรษฐกิจที่สำคัญจำแนกได้ 3 ระบบใหญ่ๆ ดังนี้
(1) ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (Capitalism) ซึ่งรู้จักกันในชื่อต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด โดยให้เอกชนมีเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐจะไม่เข้าแทรกแซงหรือแทรกแซงแต่น้อย
(2) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialistic Economic System) โดยรัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตต่างๆ และเป็นผู้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญเอง เช่น การธนาคาร การอุตสาหกรรม การสื่อสารและโทรคมนาคม
(3) ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economic System) มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกับระบบสังคมนิยม โดยเอกชนยังคงมีเสรีภาพในการผลิต แต่รัฐจะผูกขาดดำเนินกิจกรรมทางด้าน เศรษฐกิจที่สำคัญบางอย่าง เช่น ไฟฟ้า ประปา การคมนาคม และสาธารณูปโภคอื่น
5. การแข่งขันด้านอาวุธ
การแข่งขันสะสมอาวุธร้ายแรงระหว่างชาติต่างๆ กลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ ดังนี้
5.1 การแข่งขันกันผลิตและสะสมอาวุธร้ายแรง ของประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นสาเหตุทำให้ประเทศในภูมิภาคเดียวกันเกิดความหวาดระแวง และเร่งดำเนินการผลิตเพื่อเตรียมป้องกันตนเอง

5.2 ประเทศที่มีการสะสมขีปนาวุธร้ายแรง (นิวเคลียร์) ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งและความหวาดระแวงระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หรือคู่กรณีที่เคยมีปัญหาความขัดแย้งกันมาก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย จีน เกาหลีเหนือ และอิหร่าน เป็นต้น
6. ลัทธิชาตินิยม
6.1 ลัทธิชาตินิยม (Nationalism)
คือ ความจงรักภักดีต่อชาติของตนสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดคิดว่าชาติของตน มีความสำคัญเหนือกว่าครอบครัว ท้องถิ่น หรือประชาชาติอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศและกลายเป็นสงครามประหัตถ์ประหารกันได้
6.2 แนวความคิดชาตินิยมในทวีปเอเชียและแอฟริกา เริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อญี่ปุ่นทำสงครามรบชนะรัสเซีย ใน ปี พ.ศ. 1905 กระตุ้นให้ชาติเล็ก ๆ เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะประเทศยุโรปได้
6.3 พลังชาตินิยมปรากฏชัดเจนภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นไป)